"เล็บ" เป็นสิ่งหนึ่งในร่างกายที่สำคัญ สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากภายนอก นอกเหนือจากผิวพรรณ และเส้นผมแล้ว ถือว่าเล็บเป็นอวัยวะที่บ่งบอกความสวยงามอย่างหนึ่ง ทุกคนต้องการให้เล็บมีสุขภาพดี ดูสวยและดูดี จึงมีกิจกรรมการเสริมสวยเล็บมากมายในปัจจุบัน เช่น ล้างเล็บ เคลือบเล็บ การทาสีเล็บให้เกิดความสวยงาม การเพ้นท์ลวดลายที่เล็บ เป็นต้น
เล็บเริ่มสร้างตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา เป็นสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้แก่ร่างกายมนุษย์ ประกอบด้วยเซลล์ของผิวหนังที่ตาย และ เคราตินแต่สามารถเพิ่มความยาวได้ตลอดเวลา อัตราการงอกของเล็บจะมีประมาณ 0.1-0.2 มม. ต่อวัน อาจจะงอกได้ช้าหรือเร็วกว่านี้ได้บ้าง โดยพบว่า อายุประมาณ 15-30 ปี จะเป็นช่วงที่เล็บยาวเร็วที่สุด โดยจะพบว่า อัตราการงอกของเล็บมือจะยาวเร็วกว่าเล็บเท้าประมาณ 2 เท่า เราจึงต้องตัดเล็บมือบ่อยกว่าเล็บเท้า และ ปกติคนเราจะนิยมตัดเล็บกัน 1-2 อาทิตย์ต่อครั้ง ลักษณะเล็บปกติ จะมีสีชมพูอ่อนๆ เรียบเสมอกัน ไม่มีรอยหยัก หรือโค้งงอ
หน้าที่และความสำคัญของเล็บ
- 1.ไว้หยิบจับสิ่งของที่มีขนาดเล็ก ชิ้นเล็กๆ
- 2.ไว้เกา เวลาคัน เพราะถ้าไม่มีเล็บ คุณก็จะเกาได้ไม่สะดวก คงหงุดหงิดพอสมควร
- 3.ไว้ฉีกอาหาร หรือสิ่งของบางอย่างให้เป็นชิ้นเล็กๆ
- 4.ไว้ป้องกันตัว เช่น ขูด ขีด ข่วน ใบหน้า
- 5.ไว้เกาศีรษะ เวลาสระผม
- 6.ช่วยในการเดินหรือวิ่งอย่างมีประสิทธิภาพ บางท่านที่เคยโดนถอดเล็บเท้า จะพบว่าเดินไม่ถนัด
- 7.เพื่อความสวยงาม บ่งบอกลักษณะ สุขภาพ รสนิยม บุคลิก ของผู้ที่เป็นเจ้าของเล็บที่สวยงามนั้นได้
- 8.ใช้บอกโรคบางชนิดของอวัยวะภายในต่างๆ ได้
ปัญหาความผิดปกติของเล็บที่พบบ่อย
ลักษณะความผิดปกติของเล็บ
จมูกเล็บอักเสบ (Paronychiae) มักพบได้บ่อยที่สุด โดยพบในกลุ่มผู้หญิงแม่บ้านที่มือเปียกน้ำบ่อยๆ และกลุ่มที่ชอบทำเล็บตามร้านเสริมสวย มีการตัดเล็มจมูกเล็บทำให้เกิดช่องว่างในซอกเล็บ แล้วน้ำเข้าไปเซาะขังอยู่ ทำให้เกิดการอักเสบภายหลัง โดยจะมีลักษณะของเล็บจะบวมแดงนูนออกมา มีอาการเจ็บปวดอักเสบบางครั้งร่วมกับอาการคัน เล็บมักจะปกติดี จมูกเล็บอักเสบเมื่อเกิดแล้ว ไม่ค่อยหายขาด เนื่องจากช่องว่างระหว่างขอบเล็บไม่ปิดสนิทแล้ว ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าตนเองเป็นเชื้อราที่เล็บ
- เล็บเป็นเชื้อรา (Tinea Unguium) พบไม่บ่อยนัก และมักพบในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคเบาหวาน โรคเอดส์ ฯลฯ ลักษณะเล็บจะเปลี่ยนสีไป เช่น อาจจะดำคล้ำขึ้น สีเขียวหรือเหลือง ลักษณะเล็บเปลี่ยนรูปร่าง บิดเบี้ยว โค้งงอ แตกเปราะ หรือเป็นขุย
- เล็บกร่อน (Onycholysis) ลักษณะเล็บจะผุ กร่อน แตกหัก เปราะง่าย เล็บขยุกขยุย เสียรูปทรง เป็นลูกคลื่นบ้าง บุ๋มบ้าง โค้งงอ หนาขึ้นบ้าง ฯลฯ สีเล็บจะต่างจากเดิมไปบ้างเล็กน้อย ภาวะนี้เกิดขึ้นเองไม่ทราบสาเหตุชัดเจน รักษาแก้ไขได้ยาก การทานวิตามินบำรุงเล็บ เช่น ไบโอติน จะช่วยได้บ้าง
- สะเก็ดเงินที่เล็บ (Psoviasis) โรคสะเก็ดเงิน นอกจากจะมีผื่นสะเก็ดหนาที่ศีรษะ ตัวศอก เข่าแล้ว ยังเกิดความผิดปกติที่เล็บได้ด้วย ลักษณะเล็บหนาขึ้นที่ปลายเล็บมองเห็นได้ (Subungual hyperkeratosis) เล็บบุ๋ม (Pitting) เล็บเป็นลูกคลื่น (Ridging) รักษาค่อนข้างยาก ไม่หายขาด
อาการของเล็บ บ่งบอกลักษณะโรคบางโรคได้ เช่น
- โรคหัวใจและโรคปอดเรื้อรัง อาจจะพบลักษณะของเล็บปุ้ม เล็บงุ้มมากผิดปกติ (clubbing finger) เล็บซีดเขียว
- โรคไต อาจจะพบลักษณะของเล็บมีสีแตกต่างกัน (half and half nail) คือ ส่วนที่อยู่ชิดโพรงจมูกเล็บจะมีสีขาว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งส่วนปลายเล็บเป็นสีปกติ เกิดจากบริเวณใต้ฐานเล็บมีการบวม
- โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (melanoma) อาจจะทำให้ เล็บเปลี่ยนสี มีจุด สีดำ หรือแถบสีดำเกิดขึ้นได้ที่บริเวณเล็บ เป็นต้น ฯลฯ
วิธีดูแลปกป้องรักษาทะนุถนอมเล็บ
- อย่าล้างมือบ่อยเกินไป หลังล้างมือแล้ว เช็ดให้แห้ง เป่าลมร้อนช่วยด้วยจะยิ่งทำให้เล็บแห้งได้สนิท
- ถ้าจำเป็นต้องล้างจาน ซักผ้า ถูบ้าน ควรใส่ถุงมือเป็นประจำให้เป็นนิสัย
- ทาโลชั่นที่บำรุงมือและเล็บโดยเฉพาะ (Hand and nail) อย่างสม่ำเสมอ
- พยายามทาสีเล็บให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เล็บได้พักผ่อน หลีกเลี่ยงการเพ้นท์สีเล็บที่อาจจะมีสารเคมีทำลายเนื้อเล็บได้
- หลีกเลี่ยงทำเล็บบ่อยๆ ที่ร้านเสริมสวย เพราะช่างมักจะแคะเล็ม ตัดจมูกเล็บให้เสียหาย
- ตัดเล็บให้มีขนาดสั้นพอประมาณ เพราะการไว้เล็บยาวเกินไปอาจทำให้เล็บเกิดฉีกขาดได้ง่าย