2552/11/16

วิธีชม...ฝนดาวตกลีโอนิดส์

นักดาราศาสตร์ประมาณการโอกาสเห็นฝนดาวตกลีโอนิดส์ในไทยสูงสุดช่วงเวลาราว 04.43 น.ของเช้าวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ อัตราความชุกที่ 100-500 ดวงต่อชั่วโมง!

นับเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ซึ่ง ฝนดาวตก ดูสวยงาม น่าสนใจ น่าตื่นเต้น และดูได้ง่ายด้วยตาเปล่า ท้าทายการศึกษา เรียนรู้และเข้าใจเรื่องของธรรมชาติเพิ่ม

สาเหตุของการเกิดฝนดาวตก เกิดจากดาวหางซึ่งเป็นก้อนน้ำแข็งที่ประกอบด้วยฝุ่นหินเกาะกลุ่มกันจำนวนมาก เมื่อโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ก้อนน้ำแข็งจะเกิดการระเหิด ทิ้งแนวฝุ่นหินเป็นสายธารยาว เมื่อโลกโคจรเข้าไปตัดกับสายธารดังกล่าวนี้ เศษฝุ่นหินก็จะเคลื่อนตัววิ่งเข้ามาในบรรยากาศของโลกด้วยความเร็วสูง และเกิดการเสียดสีจนลุกไหม้ปรากฏเป็นขีดแสงสว่างให้เราเห็น ที่เราเรียกว่า "ฝนดาวตก"

กรณี ฝนดาวตกลีโอนิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโตนี้ เกิดจากการที่โลกโคจรผ่านเข้าไปในซากสายธารฝุ่นหินของดาวหาง 55 พี เทมเพล-ทัดเทิล ที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งโดยปกติ คาบการโคจรของดาวหางดวงนี้คือ 33.2 ปี ซึ่งในปีที่ครบรอบคาบการโคจรของดาวหาง เป็นการมาเติมเศษฝุ่นหินให้มากยิ่งขึ้น และเมื่อโลกโคจรผ่านเข้าไปในใจกลางสายธารของมัน ในปีนั้นโอกาสจะเกิดฝนดาวตกก็จะมีมากกว่าปีปกติ อย่างที่เราเรียกว่าปรากฏการณ์ "พายุฝนดาวตก"

จากบันทึกในอดีต ดังตัวอย่างใน ค.ศ.1966 ที่ฮาวาย ได้เกิดพายุฝนดาวตกที่มีอัตราการตกมากถึง 5-6 หมื่นดวงต่อชั่วโมง สำหรับชื่อของฝนดาวตกลีโอนิดส์ ก็มาจากการอ้างอิงกับแหล่งการเกิด คือ กลุ่มดาวสิงโต นั่นเอง คือแม้เราจะเห็นฝนดาวตกในทิศทางต่างๆ กัน แต่เมื่อเราลองลากเส้นย้อนกลับไปยังแหล่งการเกิดแล้ว ฝนดาวตกทุกดวงจะมาจากกลุ่มดาวสิงโต

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) อธิบายว่า ช่วงวันที่ 17-18 พฤศจิกายน แม้ไม่ใช่รอบปีของการเกิดพายุฝนดาวตกลีโอนิดส์ แต่จะมีโอกาสเห็นฝนดาวตกในอัตราความชุกมากกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากการคำนวณของนักดาศาสตร์หลายสำนัก พบว่า โลกจะโคจรตัดผ่านเศษซากสายธารฝุ่นหินของดาวหาง 55 พี เทมเพล-ทัดเทิล ถึงสองสายธารด้วยกัน ที่ทิ้งร่องรอยไว้ใน ค.ศ. 1466 และ 1533 โดยอัตราการตกราว 100-500 ดวงต่อชั่วโมง (อ้างอิงที่เมื่อกลุ่มดาวสิงโตมาอยู่ที่จุดกลางฟ้าเหนือศีรษะ) แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเห็นฝนดาวตกตลอดทั้งชั่วโมง และจำนวนฝนดาวตกที่เห็นก็ไม่ได้เห็นมากถึง 500 ดวง ตัวอย่างเช่น อัตราการตกที่ 400 ดวงต่อชั่วโมง เราเห็นแค่ช่วงเวลา 15 นาที นั่นคือ ในช่วงชั่วโมงนั้น เราจะเห็นดาวตกประมาณ 100 ดวง ซึ่งก็ถือว่ามากแล้ว"

ช่วงเวลาที่ประเทศไทยจะมีโอกาสเห็นฝนดาวตกสูงสุดในครั้งนี้ ดร.ศรัณย์ชี้ชัดว่า ตั้งแต่ตีหนึ่งเป็นต้นไป แต่จากประสบการณ์ส่วนตัว ดาวตกลูกสวยๆ มักจะมาตอนประมาณห้าทุ่ม เป็นเวลาที่กลุ่มดาวสิงโตเพิ่งขึ้นจากขอบฟ้า คือจะเห็นเป็นไฟร์บอลล์ (ดาวตกดวงใหญ่) วิ่งพาดผ่านท้องฟ้าทิ้งร่องรอยให้เห็นเป็นลำสว่างทางยาวคล้ายรางรถไฟ ซึ่งความเร็วยังไม่สูงมาก ทำให้เราเห็นได้ง่าย สำหรับช่วงพีคสูงสุดของการตก นักดาศาสตร์หลายสำนักเห็นตรงกันว่า คือเป็นเวลาประมาณ 04.43 น. ตามเวลาในไทยของเช้าวันที่ 18 พฤศจิกายน อัตราความชุกที่ 100-500 ดวงต่อชั่วโมง ซึ่งช่วงนั้นจะป็นเวลาที่ดาวสิงโตจะอยู่บริเวณกลางฟ้าพอดี นับเป็นช่วงเวลาเหมาะแก่การชมมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของโอกาส เพราะถึงเวลาจริง เราอาจจะเห็นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็เป็นได้

เพื่อให้ได้อรรถรสของการชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต ร่วมกับศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ชวนเยาวชน ผู้สนใจสังเกตการณ์ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ วันที่ 17 พฤศจิกายน เวลา 18.00 น. ถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 พฤศจิกายน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หรือจะชมการแสดงในท้องฟ้าจำลอง เรื่อง "ฝนดาวตก" และชมภาพยนตร์ด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ เรื่อง "องค์ประกอบชีวิต" (ภาพยนตร์ที่ฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์) จัดแสดงและฉายในงานนี้โดยเฉพาะ อีกทั้งได้ร่วมสนุกกับกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์อีกมากมาย สอบถามโทร.08-1571-1292 หรือ 0-2564-7000 ต่อ 1460

ฝนดาวตก เป็นความสวยงาม และเป็นแรงบันดาลใจให้คนจำนวนมาก ได้เรียนรู้ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อื่นๆ ตามมามากมาย อย่างน้อย รู้ว่าจะศึกษาฝุ่นละอองรอบๆ ดวงอาทิตย์ ศึกษาวัตถุที่อยู่รอบๆ โลกว่ามีอะไรบ้าง" ทำให้เรารู้เพิ่มขึ้น

วิธีดูที่ดีที่สุดคือ การนอนหงายมองไปที่กลางฟ้าเหนือศีรษะ ฝนดาวตกมีลักษณะแสงสว่างวาบ เคลื่อนที่ผ่านอย่างรวดเร็ว จะพุ่งมาจากทุกทิศทาง มีสีสันสวยงาม เช่น สีน้ำเงินเขียว สีส้มเหลือง เพราะมีแร่ธาตุประกอบต่างๆ กัน เช่น แมกเนเซียม ทองแดง เหล็ก จึงให้สีที่แตกต่างกัน ปลายของดาวตกซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ จะทิ้งควันจางๆ เหมือนไอพ่น หากอยู่ในที่เงียบสงบ บางครั้งอาจได้ยินเสียงด้วย เรียกว่า โซนิกบูม และหากเป็นดาวตกขนาดใหญ่เมื่อเสียดสีกับบรรยากาศ



ที่มา นสพ.มติชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น